ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคเหนือ

ศิลปะการแสดง

 

การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ ศิลปะการแสดงทางภาคเหนือเป็นลักษณะศิลปะที่มีการผสมผสานกันระหว่างชนพื้นเมืองชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไทยลานนา ไทยใหญ่ เงี้ยว รวมถึงพวกพม่าที่เคยเข้ามาปกครองล้านนาไทย ทำให้นาฏศิลป์หรือการแสดงที่เกิดขึ้นในภาคเหนือมีความหลากหลายแต่ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะที่แสดงถึงความนุ่มนวลของท่วงท่า และทำนองเพลงประกอบกับความไพเราะของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด สี ตี เป่า ที่มีความเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็น เป้ยะ สล้อ ซอ ซึง และกลอง ที่ปรากฏอยู่ในการฟ้อนประเภทต่างๆ รวมทั้งการแสดงที่มีความเข้มแข็ง หนักแน่นในแบบฉบับของการตีกลองสะบัดชัย และการตบมะผาบ

การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือนอกจากจะมีลักษณะเป็นแบบพื้นเมืองเดิมไทยลานนา ไทยใหญ่เงี้ยว รวมถึงพม่าผสมกันอยู่แล้ว ยังมีลักษณะการแสดงของภาคกลางรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชายาพระนามว่า เจ้าดารารัศมี พระราชธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าแม่ทิพเกสร เจ้าเมืองเชียงใหม่ ทำให้อิทธิพลการแสดงของภาคเหนือในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมีมีลักษณะของภาคกลางปะปนอยู่บ้าง ทำให้สามารถแบ่งลักษณะการแสดงพื้นเมืองภาคเหนือได้เป็น 3 ลักษณะ

1. ลักษณะการฟ้อนแบบพื้นเมืองเดิม เป็นการแสดงที่มีอยู่ตามท้องถิ่นทั่วไป เช่น ฟ้อนครัวทาน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน เป็นต้น

2. ลักษณะการฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลจากชาติอื่น อาทิ พม่า ไทยใหญ่ เงี้ยว เช่น ฟ้อนไต ฟ้อนโต ฟ้อนเงี้ยว เป็นต้น

3. ลักษณะการฟ้อนแบบคุ้มหลวง เป็นการฟ้อนที่เกิดขึ้นในคุ้มของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งมีลักษณะการฟ้อนของภาคกลางผสมอยู่ เช่น ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา  ฟ้อนน้อยใจยา  เป็นต้น

This entry was posted in อินเตอร์เน็ต and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.