การแสดงงิ้ว เป็นมหรสพอย่างหนึ่งของจีน เล่นเป็นเรื่องเป็นราว มีการขับร้องและเจรจาประกอบท่าทางที่แสดง โดยนำเอาเหตุการณ์ต่างๆในพงศาวดารและประวัติศาสตร์มาดัดแปลงแต่งเติม มีการขับร้องและเจรจาประกอบกับลีลาท่าทางที่แสดง มีแสดงเฉพาะในพระราชวัง เรื่องที่แสดงเป็นเรื่องสั้นๆ โดยงิ้วได้วิวัฒนาการโดยได้มีผู้ดัดแปลงแก้ไขให้ดีขึ้นทุกยุคสมัย ส่วนเรื่องที่แสดงก็เป็นเรื่องในพงศาวดาร เกร็ดพงศาวดาร ประวัติศาสตร์ และนิทาน เช่น ไซฮั่น ตั้งฮั่น ศิลปะของชาวจีนตั้งแต่อดีตกาลนั้น ไม่เน้นการแสดงศิลปะรูปแบบเดียวแต่จะเน้นไปในด้านการผสมผสานศิลปะร่วมกัน เช่น การขับร้องจะต้องมีระบำหรือนาฏลีลาประกอบพร้อมกับการบรรเลงดนตรี การระบำรำฟ้อนต่างๆ มักมีการขับร้องและบรรเลงดนตรีควบคู่กันไป เป็นต้น ซึ่งมีความแตกต่างกับศิลปะตะวันตกเป็นอย่างมาก อุปรากรจีนเป็นศิลปะชั้นสูงที่มีแบบแผนประเพณีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นักแสดงต้องผ่านการฝึกฝนตั้งแต่เยาว์วัย
ความโดดเด่นของการแสดงงิ้วนอกจากลีลาการร่ายรำ การเคลื่อนไหวของผู้แสดงแล้ว เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายตลอดจนการแต่งหน้าก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งการแต่งกายของตัวละครจะบ่งบอกถึงบทบาทของตัวแสดง ไม่ว่าจะเป็นหมวก เสื้อผ้า เข็มขัด รองเท้า สีสันของเสื้อผ้า เครื่องประดับ ตลอดจนลวดลายที่ปักอยู่บนเสื้อแต่ละตัวสามารถทำให้ผู้ชมรู้ถึงลำดับยศฐาบรรดาศักดิ์ ขุนนางฝ่ายบุ๋น ฝ่ายบู๊ คหบดี หรือสามัญชนได้อย่างชัดเจน ผู้แสดงงิ้วต้องแต่งกายให้สอดคล้องถูกต้องกับกาลสมัยของเรื่องที่แสดง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือใบหน้า ลักษณะใบหน้าของตัวงิ้ว แสดงให้ผู้ชมทราบว่า ตัวงิ้วนั้นมีอุปนิสัยใจคอเช่นใด สีต่างๆที่ทาและเขียนบนใบหน้าตัวงิ้ว กำหนดไว้สีหนึ่งใช้จำเพาะอุปนิสัยชนิดหนึ่งเท่านั้น
ตัวละครแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1. ตัวละครชาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “บู๊” ผู้แสดงต้องแสดงบทโลดโผน ส่วน “บุ๋น” เน้นการขับร้องและการแสดงอารมณ์
2. ตัวละครหญิง
3. ตัวละครวาด เป็นตัวละครที่แต่งหน้าด้วยลวดลายสีสันต่างๆ ซึ่งบ่งบอกถึงนิสัยของตัวละคร ผู้แสดงต้องมีหน้าผากที่กว้าง รูปร่างสูงใหญ่ น้ำเสียงกังวาน
4. ตัวละครตลก แบ่งออกเป็นตลกแบบบุ๋น เช่น ยาม คนรับใช้ คนตัดไม้ เป็นต้น ส่วนตัวตลกแบบบู๊ ต้องแสดงเกี่ยวกับกายกรรม เช่น พลทหาร